วันอังคารที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

เงาะป่าซาไกภูมิปัญญาไทย

เงาะป่าซาไกภูมิปัญญาไทย
ประวัติความเป็นมา
กลุ่มชาติพันธ์เงาะป่าในแหลมมลายู
ซาไกเป็นกลุ่มชาติพันธ์นิกริโต (nigrito) อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ป่าเขาในภาคใต้ของประเทศไทยตลอดแหลมมลายู ซาไกหรือที่คนไทยเรียกว่า “เงาะป่า” ยังมีผู้เรียกชื่อชนกลุ่มนี้อีกหลายชื่อ เช่น ซาแก เซมัง(samang) ซินนอย(senoi) คะนัง โอรัง อัสลี ออกแก นิกริโต และเงาะ ส่วนพวกซาไกเรียกตนเองว่า “ก็อย” “มันนิ” หรือ “คะนัง”
เชื้อชาติเงาะป่าซาไกในแหลมมลายู ลักษณะรูปพรรณสัณฐาน นิสัยใจคอ สติปัญญา
ลักษณะรูปร่างตามธรรมชาติ มีลักษณะเหมือนกับสืบสายมาจากคนป่าแถบอัฟริกา ผมหยิกคอดติดหนังศีรษะ ผิวดำคล้ำ จมูกแบนกว้าง ริมฝีปากหนา ฟันซี่โต ใบหูเล็ก ท้องป่อง ตะโพกแฟบนิ้วมือนิ้วเท้าใหญ่ รูปร่างสันทัดสูงประมาณ 140-150 เซนติเมตร ผู้หญิงเตี้ยกว่าผู้ชาย แข็งแรง ล่ำสัน ชอบเปลือยอก
นิสัยใจคอ มีอุปนิสัยร่าเริง ชอบดนตรีและเสียงเพลง จะฟังออกหรือไม่ไม่สำคัญขอให้เป็นเสียงดนตรีเป็นชอบฟัง กลัวคนแปลกหน้า ยิ้มง่ายเปิดเผยเมื่อคุ้นเคย เกลียดการดูถูกเหยียดหยาม เยือกเย็น พูดน้อยตรงไปตรงมาไม่มีเล่ห์เหลี่ยม
สติปัญญา ชาวเงาะทั่วไปมีแววฉลาดหลักแหลม เรียนรู้ได้เร็วและมีความจำยอดเยี่ยม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีศักยภาพด้านภาษาสูง
ซาไกแต่ละกลุ่มมีการไปมาหาสู่ เยี่ยมเยือนและมีการนับเครือญาติในหมู่ซาไกที่อยู่ต่างถิ่นด้วย จากหลักฐานสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 (อ้างถึงใน อนงค์ เชาวนะกิจ. 2550:11-15) กล่าวว่า ประชากรซาไกกระจายอยู่ทั่วไปในเขตภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 ชาวอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ผู้หนึ่งให้ข้อมูลว่า พบชาวซาไกบนภูเขาบรรทัดประมาณ 70 คน และมีการสืบค้นเพิ่มเติมพบว่า กลุ่มชาวซาไกกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ อาศัยอยู่ตามป่าในเขตจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ในจังหวัดสตูลพบกลุ่มชนชาวซาไกในเขตอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดยะลาพบที่อำเภอธารโต บันนังสตาและเบตง และจังหวัดนราธิวาสพบที่อำเภอแว้ง อำเภอระแงะ

ประชากรซาไกในประเทศไทย
ประชากรซาไกในประเทศไทยมีประมาณ 200 คน แยกตามกลุ่มลักษณะภาษาที่ใช้ได้ 4 กลุ่ม ไก้แก่
1. กลุ่มซาไกที่ใช้ภาษาแด็นแอ็น เรียกว่า กลุ่มแด็นแอ็น มีถิ่นฐานอยู่แถบจังหวัดพัทลุง สตูล มี ประชากรเมื่อ พ .ศ. 2526 จำนวน 70 คน พ.ศ.2527 คณะสำรวจของสถาบันทักษิณคดีศึกษาพบพวกซาไกบนภูเขา ที่ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง จำนวน 20 คน และเมื่อ พ.ศ. 2528 ชาวตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง บอกว่าพบซาไกลงมาอยู่ใกล้หมู่บ้านประมาณ 30 คน
2. กลุ่มซาไกที่ใช้ภาษากันซิว มีถิ่นฐานอยู่แถบจังหวัดยะลา มีประชากรประมาณ 60 คน
3. กลุ่มซาไกที่ใช้ภาษาแตะเด๊ะ มีถิ่นฐานอยู่แถบอำเภอรือเสาะ และแภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีประชากรประมาณ 40 คน
4. กลุ่มซาไกที่ใช้ภาษายะฮายย์ มีถิ่นฐานอยู่แถบอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส มีประชากรประมาณ 30 คน
สำหรับประเทศมาเลเซีย มีซาไกประมาณ 70,000 คน แบ่งตามกลุ่มภาษาที่ใช้ประจำกลุ่ม เป็น 11 กลุ่ม คือ กลุ่มโมด็อยฮ้อง กลุ่มปะตั้ก กลุ่มซ็อยอ็อนปร๊ะ กลุ่มฮ็องไดย์ กลุ่มไดย์ฮองยาเลาะ กลุ่มปะและ กลุ่มละเนาะ กลุ่มละไมย์ กลุ่มเลาะแตะอ็อง กลุ่มก้อต๊ะ และกลุ่มโมฮอด็อก ซาไกทุกกลุ่มทั้งในทั้งในภาคใต้ของไทยและประเทศมาเลเซีย เขาเชื่อว่าพวกเขาทุกกลุ่มเป็น “มันนิ” กัน คือเป็นพวกเดียวกันทั้งสิ้น

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของเงาะป่าซาไก
ถิ่นที่อยู่อาศัย ลักษณะบ้านเรือน
ซาไกอาศัยอยู่ตามป่าเขา ชอบใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์สมัยหิน และชอบเร่ร่อนย้ายถิ่นสร้างกระท่อมเป็นที่อาศัยเรียกว่า “ทับ” กระจายอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยไปจนถึงรัฐเคดาห์ และรัฐปะหัง ประเทศมาเลเซีย บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทย ชนเผ่าซาไกจะเร่ร่อนย้ายถิ่นจากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่ง ในแถบบริเวณภาคใต้ของไทยจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 20-30 คน มักเลือกทำเลสูง ๆ ใกล้แหล่งน้ำ เป็นที่อยู่อาศัย เมื่อเลือกทำเลได้ตามต้องการก็จะแผ้วถางให้บริเวณนั้นโล่งเตียนแล้วสร้างที่อยู่เป็นกระต๊อบเล็ก ไ เรียกว่า “ทับ” โดยใช้กิ่งไม้ง่ามเป็นตอม่อ ยกแคร่ขึ้นสูงจากพื้นดิน 1 ศอก และ กว้าง 1 ศอก ซาไกที่เป็นโสดจะมีแคร่เดียว ส่วนซาไกที่มีสามีภรรยา จะมี 2 แคร่อยู่ใกล้ ๆ กัน โดยเว้นตรงกลางไว้ หลังคาทับสร้างเป็นแบบเพิงหมาแหงน ใช้เสาไม้ง่ามสี่ต้น เสาสองต้นหน้าสูงระดับศีรษะ เสาสองต้นหลังสูงจากพื้นดินเล็กน้อย ใช้เชือกผูกโครงหลังคานำใบไม้มามุงแบบง่าย ๆ ป้องกันแสงแดด เมื่อถึงฤดูฝน ซาไกจะไปอาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเชิงผา โพรงต่าง ๆ
การหลับนอน
พวกซาไกถือว่าเท้าเป็นอวัยวะสำคัญของพวกเขา ใช้สัญจรและหาอาหารมาเลี้ยงปากท้อง พวกเขาจึงนอนเอาศีรษะออกข้างนอก เอาเท้าเก็บไว้ข้างใน เขาบอกว่าเท้ามีความสำคัญกว่าศีรษะ ไปไหนมาไหนได้ก็เพราะเท้า หาอาหารได้ด้วยเท้าหรือเกิดเหตุการณ์ฉุกละหุกกะทันหันภัยมาถึงตัวก็วิ่งหนีได้ด้วยเท้า และการหันศีรษะออกข้างนอกหากเกิดเหตุก็จะรู้สึกตัวเร็ว ถ้าหากมีเสือมาถ้าหันเท้าออกข้างนอกเสือกัดเท้าทำให้ไม่ตายแต่จะเกิดอาการเจ็บปวด ลำบากมาก ไปไหนไม่ได้ แต่เมื่อหันศีรษะออกเสือจะได้กัดศีรษะทีเดียวได้ตายเสียเลย ส่วนท่านอนชอบนอนตะแคงมากกว่านอนหงายหรือนอนคว่ำ เป็นสัญชาติญาณในการระวังภัย ทำให้สะดวกในการลุกหนีเมื่อมีภัยมาถึงตัว
การอพยพโยกย้ายถิ่น
ซาไกจะโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย มีนิสัยอยู่ไม่เป็นที่ ซาไกจะสร้างทับอยู่อาศัยในที่แห่งหนึ่ง ๆ ประมาณ 3-4 วัน หรือไม่เกิน 15 วัน สาเหตุใหญ่เกิดจากแหล่งอาหารตามธรรมชาติร่อยหรอ หรือในกลุ่มมีคนตาย เพราะซาไกกลัวเรื่องผีมาก ก่อนออกเดินทางซาไกจะเอาขี้เถ้าออกจากกองไฟ ทาตัวและหน้าตาก่อนเพราะเชื่อว่าผีจะจำไม่ได้ ตามไปทำร้ายไม่ถูก สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ ซาไกจะแยกถ่ายอุจจาระจากที่ไกล โดยเอาต้นมันสำปะหลังปักไว้บนกองอุจจาระ เพื่อเป็นสัญลักษณ์จะได้ไม่เหยียบ ขยับไล่เข้ามาใกล้ที่พักเรื่อย ๆ ถึงที่พักเมื่อใดเป็นสัญญาณโยกย้ายถิ่น และเมื่อกลับมา ต้นมันสำปะหลังโตสามารถกินหัวได้อีก ในการอพยพหัวหน้ากลุ่มจะเดินนำหน้าและแบกของมากกว่าคนอื่นเพราะถือว่าต้องเสียสละมากกว่าผู้อื่น
อาหารการกินและการแต่งกาย
การแต่งกาย
สมัยก่อนชาวซาไกใช้ใบไม้ เปลือกไม้ หรือตะใคร่น้ำที่เกาะเป็นแผ่นตามก้อนหินใหญ่ ๆ ในป่า โดยการแคะมาจากหินแล้วผึ่งแดดให้แห้งจนเป็นสีดำ แล้วนำมาถักเป็นเครื่องนุ่งห่ม ผู้หญิงซาไกนุ่งยาวถึงหัวเข่าหรือครึ่งน่อง ใช้ผ้าคาดอกหรือเปลือยอก ผู้ชายนุ่งสั้นแค่เข่าและเปลือยอก ส่วนเด็ก ๆ จะไม่นุ่งอะไรเลย ชาวเงาะรู้จักใช้ผ้ามาแล้วตั้งแต่สมัยพ่อแม่ของเขา แต่ไม่รู้จักเอามานุ่งให้เป็นถุงเป็นผืนอย่างชาวบ้าน เขาจะเอามาฉีกออกเป็นชิ้น ๆ ขนาดฝ่ามือเดียวกัน แต่มีผ้าหรือใบไม้นุ่งทับรอบเอวยาวแค่เข่าหรือครึ่งน่องอีกชั้นหนึ่ง ผ้าคาดอกหรือเปลือยอกเช่นเดียวกับผู้ชาย
คำบอกเล่านี้ตรงกับลักษณะการแต่งกายของชาวเงาะที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรัง ที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงพบเมื่อ ร.ศ.125 (พ.ศ.2548) ดังข้อความที่พระองค์ท่านทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่าว่า
“....ผู้ชายนุ่งผ้าคาบหว่างขา แล้วกระหวัดเอวไว้ทั้งหน้าหลังเรียกว่า “ นุ่งเลาะเตี๊ยะ” ชายที่ห้อยข้างหน้าเรียกว่า “ ไกพ๊อก” ชายที่ห้อยข้างหลังเรียกว่า “ กอเลาะ” วิธีนุ่งผ้าเช่นนี้ เหมือนอย่างเขมร ครั้งพระนครวัดนุ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในลายจำหลักศิลา ชั่วแต่ผ้ากว้างแคบกว่ากันตามที่มีมากน้อย พวกก็อยนั้นเห็นนั้นจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ครั้งนั้นมาถึงจนเดี๋ยวนี้ ผู้หญิงนุ่งเตี่ยวชั้นในเรียกว่า “จะวัด” คือมีสายรัดบั้นเอวและผ้าทาบหว่างขา แล้วนุ่งหุ้มรอบเอวข้างนอกตามแต่จะมี เมื่อไม่มีผ้าก็ใช้ใบไม้เมื่อมีผ้าก็ใช้ผ้าเรียกว่า “ฮอลี” กว้างและแคบก็ตามมี อย่างแคบก็ปกลงมาเหนือเข่า ผู้หญิงก็มีผ้าห่มเรียกว่า “สิใบ” นี่ก็เห็นจะเติมขึ้นใหม่เมื่อใกล้เคียงกับชาวบ้านเขา”
ปัจจุบันชาวเงาะรับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายอย่างสังคมชาวเมืองแล้วมีการสวมเสื้อ ผู้หญิงก็นุ่งโสร่ง นุ่งกระโปรง พวกผู้ชายนุ่งโสร่งบ้าง ผ้าขาวม้าบ้างหรือนุ่งกางเกงสวมรองเท้าแบบชาวเมืองทั่วไป เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเหล่านี้เขาได้รับแจกจากทางราชการหรือผู้มีกุศลจิตมอบให้ ชาวเงาะจึงได้นุ่งกางเกง ทรงมอส ทรงเดป อย่างเรา ๆ ทั่วไป แต่ผู้หญิงเท่าที่สังเกตดูพบว่ายังไม่รู้จักใช้ยกทรง อาจจะเป็นเพราะไม่มีคนแจกให้ หรือไม่มีทรงจะให้ยก เขาเล่าให้ฟังว่าเมื่อนุ่งผ้าอย่างชาวเมืองใหม่ ๆ รู้สึกคันไปหมด แต่ก็จำเป็นต้องนุ่งเพราะถ้าไม่นุ่ง นาย (ตำรวจ) จะจับ
ถึงแม้ว่าเขาจะพัฒนาการแต่งการเป็นแบบสังคมชาวเมืองแล้วก็ตามแต่ลักษณะอนารยะก็ยังแสดงให้เห็นอยู่อย่างเด่นชัด คือ เสื้อยังสกปรก มอมแมม ไม่ค่อยซัก นาน ๆ จะซักสักครั้งหนึ่ง หรือบางคนก็นุ่งห่มกันจนขาด ไม่ได้รับการซักเลย เขาไม่รู้จักเก็บรักษาเสื้อผ้า เมื่อได้รับแจกชุดใหม่ก็จะถอดเก็บชุดเก่าซุกไว้ และไม่รู้จักสวมให้เข้าชุดกัน
เครื่องประดับเพื่อความสวยงาม
เครื่องประดับสำหรับความสวยงามนั้น พวกผู้ชายไม่มีเครื่องประดับอื่นใดนอกจากเสื้อผ้า แต่ชาวเงาะที่ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ดูจะพิเศษไปกว่าชาวเงาะในที่อื่น ๆ คือบางคนผูกนาฬิกาข้อมือ หิ้ววิทยุ ส่วนผู้หญิงออกจะพิถีพิถันในการแต่งตัวบ้าง แต่ก็ยังเป็นลักษณะชาวป่าดงอยู่นั่นเอง คือตกแต่งเรือนผมที่ดกดำ หยิกขมวดกลมติดหนังศีรษะหรือฟูเป็นกระเซิงด้วยใบไม้ ดอกไม้สีต่าง ๆ แต่ชอบสีแดง โดยเอามาเสียบติดกับผม เด็ก ๆ บางคนรู้จักใช้ กิ๊บสีแดงสีเขียว ยังไม่รู้จักใช้หวี อย่างเรา หรือถ้าใช้หวีอย่างเรา ๆ อาจจะหวีไม่ไปก็ได้เพราะปมหยิกฝอยมาก เขาจึงใช้หวีที่ทำขึ้นเองจากไม้ไผ่แกะเป็นซี่ห่าง แล้วตกแต่งลวดลายสวยงามสงบนผิวไม้ไผ่ ผู้หญิงบางคนทาแป้งหน้าขาว ใช้สีแดงจากดอกไม้ หรือบางคนใช้ลิปสติกที่หาซื้อ ไปจากตลาดเมื่อขายของป่าได้ทาปากทาแก้มให้เป็นสีแดง บางคนใส่ตุ้มหู สวมสร้อยทองชุบดูแพรวพราวไปเหมือนกันทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือลักษณะการแต่งกายของชาวเงาะในปัจจุบันนี้ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหมดแล้ว
แต่ก่อนนั้นโดยปกติแล้วผู้หญิงแต่งกายกันตามแบบเงาะอย่างสวยงามหญิงที่ยังไม่มีสามีจะใช้ดอกไม้สีขาวทำตุ้มหู ใช้หวีไม้ไผ่เสียบผม หรือสวมกำไรข้อมือ ส่วนผู้หญิงที่มีสามีแล้วจะสวมสร้อยคอลูกประคำ แต่ปัจจุบันลักษณะเหล่านี้ได้สูญหายไปหมดสิ้น
คำบอกเล่านี้ ตรงกับลักษณะการแต่งตัวของหญิงเงาะตามที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงบรรยายไว้ ดังข้อความในพระราชนิพนธ์ว่า “ผู้หญิงเมื่อมีสามีสอดตุ้มหูใช้ดอกไม้โดยมาก ดอกจำปูน เป็นที่พึงใจกว่าอื่น เครื่องประดับนอกนั้น มีหวีทำด้วยไม้ไผ่ปล้องขนาดใหญ่ผ่ากลางจักเป็นซี่ แล้วแต่งลายด้วยเอาตะกั่วนาบและยอมสีบ้าง กำไรร้อยด้วยเม็ดมะกล่ำ ของเครื่องแต่งตัวเหล่านี้ อาจจะฝากมาแลกของซึ่งต้องการจากคนชาวบ้านได้
การแต่งกายของซาไกในปัจจุบันรับวัฒนธรรมชาวเมือง มีการสวมเสื้อ นุ่งกางเกง นุ่งกระโปรง สวมรองเท้า เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนของป่าหรือแลกด้วยแรงงาน


ผู้ชาย ไม่ใช้เครื่องประดับ ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานนิยมใช้ดอกจำปูน ทำเป็นตุ้มหู สวมสร้อยคอลูกประคำ ใช้หวีทำจากไม้ไผ่ การใช้หวีหมายถึงสาวบริสุทธิ์ สร้อยคอแสดงถึงผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เด็ก ๆ ใช้กิ๊ปสีแดงหรือสีเขียวยังไม่รู้จักใช้หวี
อาหาร เป็นอาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ถึงแม้หมู่บ้านใกล้ๆ จะมีการเพาะปลูกให้เห็นก็ตาม อาหารหลักคือหัวเผือก หัวมัน ผลไม้ป่าตามฤดูกาล หน้าที่หาอาหารเป็นหน้าที่ของทุกคนช่วยกัน ผู้หญิงและเด็กจะหาเผือก มัน ผัก ผลไม้บริเวณใกล้ ๆ ทับ ส่วนผู้ชายจะออกหาอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ในป่า หน้าที่ปรุงอาหารเป็นของผู้หญิง เนื้อสัตว์ป่าได้แก่ เนื้อกวาง เก้ง หมูป่า ปลา ตะพาบน้ำ เต่า ยกเว้นเนื้องู เนื้อช้างและเสือเพราะถือกันว่ารังควานแรง เมื่อล่าสัตว์มาได้จะทำพิธีถอนรังควานหรือเซ่นไหว้วิญญาณทุกครั้งเพราะเชื่อว่าสัตว์ทุกชนิดมีวิญญาณของสัตว์สิงอยู่ ถ้าไม่ทำพิธีถอนรังควานวิญญาณของสัตว์ จะเข้าสู่ร่างกายผู้ล่าได้ในภายหลัง
การพักผ่อนหย่อนอารมณ์การแสดงและการละเล่น
ซาไกมีเวลาในการพักผ่อนมากเพราะอุปนิสัยไม่ค่อยขยันทำงาน ชอบเสียงเพลงเสียงดนตรี โดยการหาไม้ไผ่ลำใหญ่ ๆ และกะลา มาทำเครื่องดนตรีไว้เล่น ผู้ชายออกล่าสัตว์เป็นกีฬาในยามที่ล่าสัตว์ใหญ่มาได้มาล้อมวงจับกลุ่มคุยกัน สถานที่พักผ่อนก็คือบริเวณใกล้ทับที่อาศัย
ลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม ครอบครัวและการปกครอง
ด้านเศรษฐกิจ ซาไกไม่รู้จักการเก็บสะสม ไม่รู้จักจำนวนมาก จำนวนน้อย ดังนี้เศรษฐกิจในครอบครัวฝืดเคืองตลอดเวลา ซาไกไม่รู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันซาไกรู้จักใช้เงินแต่ไม่รู้คุณค่าของเงิน
ด้านครอบครัวครอบครัวของซาไกจะมีพ่อแม่ลูก ไม่มีปู่ ย่า ตา ยาย อาจจะเนื่องมาจากอายุสั้นมักจะตายก่อนไม่ทันเข้าสู่วัยชรา ครอบครัวซาไกเป็นครอบครัวแบบจุดเริ่มต้น เมื่อลูกโตแต่งงานก็แยกไปตั้งครอบครัวใหม่ ซาไกมีลักษณะแบบผัวเดียวเมียเดียว ผู้ชายจะมีเมียใหม่ได้เมื่อผู้หญิงตายเท่านั้น ไม่มีการผิดลูกผิดเมียคนอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาในการทำงานสามีจะเป็นผู้หาที่อยู่อาศัยและจัดสร้างที่อยู่อาศัย ภรรยาเป็นผู้ดูแลบ้านและเลี้ยงดูลูก การมีเพศสัมพันธ์และการร่วมประเวณีของคู่สามีภรรยาจะไม่ทำกันในทับ แต่จะทำกันในป่าเรียกว่า “ขุดมัน” และไม่จำกัดเวลาไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืนตามความพอใจของเขา บริเวณที่สามีภรรยาใช้ร่วมประเวณีจะทำเครื่องหมายเรียกว่า “ปักกำ” ไว้ตรงปากทาง เป็นที่รู้กันว่าเป็นทางห้ามผ่าน หลังร่วมประเวณีแล้วจะลงเล่นน้ำในลำธารอย่างสนุกสนาน แล้วหาดอกไม้สีแดงทัดหูเดินกลับทับ
ด้านสังคมและการปกครอง สังคมซาไกเป็นสังคมเล็ก ๆ คือครอบครัวและบ้านเท่านั้น สามีเป็นผู้นำสามีภรรยาเป็นผู้ตาม ให้เกียรติถนอมน้ำใจโดยการไม่นอกใจภรรยา เป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว มีผู้ใหญ่บ้านปกครองเพียงคนเดียวโดยต้องเป็นผู้มีอายุมากที่สุดและเป็นคนที่ถูกเลือกขึ้นมา ถ้าลูกบ้านทำผิด ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ตักเตือน ไต่สวน ลงโทษ มีหน้าที่แบ่งงานให้ลูกบ้านเมื่อมีคนมาว่าจ้างให้ทำงาน โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ถ้างานใดยากหรือเป็นงานหนักผู้ใหญ่บ้านจะรับมาทำเอง หน้าที่ด้านปกครองครองชุมชนหัวหน้าหมู่บ้านจะต้องทำคือ เป็นประธานในการแต่งงาน เป็นผู้ไต่สวนคดี เป็นหัวหน้าในการย้ายที่อยู่และรับหน้าที่แบกสัมภาระหนักกว่าผู้อื่น
การอนามัยและยารักษาโรค ซาไกไม่รู้จักระบบการแพทย์ ไม่รู้จักรักษาหรือส่งเสริมการอนามัยของตนเองและชุมชนของตนมากนัก จะปล่อยปละละเลยไปตามยถากรรม ซาไกเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร โรคผิวหนังกันมาก แต่ที่น่าแปลกใจคือ ซาไกไม่ค่อยเป็นโรคมาลาเรียทั้งๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีเชื้อไข้มาลาเรียชุกชุม ซาไกไม่นิยมใช้ยาแผนปัจจุบัน
ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “ยาหลวง” แต่นิยมใช้ยาสมุนไพร จนได้รับการยกย่องว่า “ซาไกเจ้าแห่งสมุนไพร”
ยารักษาโรค โดยปกติซาไกกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีหมอประจำกลุ่มอยู่ 1-2 คน คือหมอผู้หญิงมีหน้าที่ทำคลอด หมอผู้ชายทำหน้าที่เป็นแพทย์รักษาโรคทั่วไป ในบางกรณีอาจมีหมอคนเดียวเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ ทำหน้าที่เป็นทั้งผดุงครรภ์ ทำคลอดและเป็นแพทย์รักษาโรคทั่วไป เมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น หมอก็จะวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค ซึ่งในความคิดของซาไกเชื่อว่าเหตุแห่งการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของผี และเกิดจากเชื้อโรค หมอก็จะรักษาโดยใช้เวทย์มนต์คาถา หรือทำ “ซาโฮส” โดยหมอจะใช้หมากพลูจำนวน 4 คำ มาเคี้ยว โดยมีความหมายดังนี้
คำที่ 1. หมายถึง การเฮิบ ( ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งป่า )
คำที่ 2. หมายถึง บาตุ๊ ( ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งก้อนหิน )
คำที่ 3. หมายถึง อีฮุ ( ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งต้นไม้ใหญ่ )
คำที่ 4. หมายถึง กาเยาะติเอะ ( ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดิน )
หมากพลูทั้งสี่คำนี้ หมอจะเคี้ยวพร้อมกันจนแหลกแล้วพ่นลงบนอวัยวะส่วนที่เจ็บปวด 3 ครั้ง ก่อนจะพ่นแต่ละครั้งมีคาถาที่ต้องเสกว่า “ ปะลัก เอว อะเบ็ด” เมื่อทำซาโฮสให้ผู้ป่วยแล้วหมอก็จะจัดหายาสมุนไพรมารักษาโรคตามอาการต่อไป
เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นป่าเขตร้อนชื้น จึงมีพืชสมุนไพรอุดมสมบูรณ์ ชาวซาไกรู้จักนำพืชสมุนไพรมาใช้เพื่อการบำรุงร่างกายและรักษาโรค ประมาณ 20 ชนิด โดยจำแนกได้ 2 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่หนึ่ง ยาสำหรับสตรี มีหลายชนิดเช่น
1. ฮ่ำ เป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสตรี นิยมกินกันหลังคลอดทุกคน โดยจะกินในขณะอยู่ไฟ
สรรพคุณ เป็นยาคุมกำเนิด ถือเป็นยาร้อนช่วยให้เลือดที่ค้างหลังคลอดถูกขับออกมาง่ายขึ้น อันจะมีผลต่อไปในระยะยาว ช่วยให้ประจำเดือนหลังคลอดลูกมาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าต้องการจะมีลูกคนใหม่ จึงกินยาที่ช่วยให้มีลูกง่าย
วิธีกิน ใช้ส่วนต้น นำมาต้มกับน้ำ กินวันละ 4-5 แก้ว กินตั้งแต่หลังคลอด 2-3 วัน จนครบ 40 วัน จึงหยุดได้
2. กาเลาะ
สรรพคุณ เป็นยาขับเลือดหรือขับน้ำคาวปลา สำหรับหญิงหลังคลอด ยานี้เป็นยาแก้ร้อนใน สรรพคุณเช่นเดียวกับฮ่ำ
วิธีกิน ใช้ส่วนต้นจำนวนเล็กน้อย นำมาต้มกินเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้ากินมากน้ำนมจะแห้ง
3. กะจิติเมาะ
สรรพคุณ เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงหลังคลอด อีกทั้งยังช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
วิธีกิน ใช้ส่วนเถา (เป็นเถาไม้เลื้อย) นำมาต้มน้ำกินร่วมกับกาเลาะ
4. มูดุส
สรรพคุณ เป็นยาคุมกำเนิดชนิดถาวรสำหรับสตรี จะทำให้ไม่มีลูกเด็ดขาด
วิธีกิน ใช้ส่วนหัวนำมาต้มกินกับน้ำวันละ 4-5 แก้ว กินภายหลังคลอดแล้ว 1 เดือน เมื่อครบ 2 เดือน ก็หยุดได้
5. ยังออล
สรรพคุณ เป็นยาที่กินแล้วทำให้มีลูก
วิธีกิน ผู้หญิง (ภรรยา) ใช้ส่วนต้นมาต้มกินกับน้ำ กินวันละ 2-3 แก้ว กินช่วงเวลามีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนหมดก็หยุดกิน ผู้ชาย (สามี) เริ่มกินพร้อม ๆ กับภรรยา โดยกินขนาดเท่ากันไปเรื่อย ๆ จนแน่ใจว่าภรรยาเริ่มตั้งครรภ์ก็หยุดกินได้
6. ยายเอ็ง มีสรรพคุณและวิธีกินเหมือนฮ่ำ
7. อันจง
สรรพคุณ เป็นยาช่วยให้คลอดง่าย ใช้กินเวลาเจ็บท้องคลอด
วิธีกิน นำส่วนต้นมาล้าง ทุบแช่น้ำเย็นไว้ประมาณ 2-3 นาที แล้วจึงกินเวลาที่มีอาการเจ็บท้องคลอด นำบางส่วนมาลูบบริเวณศีรษะด้วย ซึ่งมีความเชื่อว่าจะทำให้คลอดบุตรง่าย
8. ตังยับเยา
สรรพคุณ เป็นยาช่วยให้มีน้ำนมมาก
วิธีกิน นำส่วนต้นมาตำ แล้วนำมานวดที่บริเวณเต้านมทั้ง 2 ข้าง เพื่อช่วยให้มีน้ำนมมาก
9. มะฮึ่ม
สรรพคุณ เป็นยาแก้ประจำเดือนไม่ดี ไม่ปกติ ปวดประจำเดือน มีรสเผ็ดร้อน
วิธีกิน ใช้ส่วนรากมาต้มน้ำกินวันละครั้ง เช่น ถ้ามีประจำเดือนมา 5 วัน แล้วมีอาการปวดท้อง ให้ทดลองกิน 2 วันก่อน ถ้าไม่ปวดท้องก็หยุดกิน
ประเภทที่สอง ยารักษาโรคทั่วไป มีหลายชนิดเช่น
1. ชูดง หรือว่านร้อยปีในภาษาไทย
สรรพคุณ เป็นยาแก้ปวดบั้นเอว
วิธีกิน ใช้ส่วนรากนำมาต้มกินวันละ 2-3 ครั้ง หรือกินต่างน้ำก็ได้
หมายเหตุ ผู้ชายที่ต้องการให้มีสมรรถภาพทางเพศสูง ก็จะกินยา “มักม็อก” โดยนำชูดงและมักม็อกมาควั่นบาง ๆ แล้วดองลงในเหล้า ซึ่งเชื่อว่ากินแล้วสมรรถภาพทางเพศจะดี
2. บักกุกะเฮิบ
สรรพคุณ เป็นยาแก้โรคหอบหืด ชาวซาไกมีความเชื่อว่าโรคหอบหืด เกิดจากร่างกายกระทบกับอากาศเย็นจนทำให้ไอเป็นประจำ แล้วเป็นไข้หวัด ต่อมาก็กลายเป็นโรคหอบหืด หรือกินอาหารที่เย็น ได้แก่ แตง ฟัก ถั่วฝักยาว หน่อไม้ ก็อาจทำให้เกิดโรคหอบหืดได้ หรืออาจทำให้ปวดหลัง
วิธีกิน ใช้ส่วนราก ต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง
3. อะเวยกูญิต
สรรพคุณ เป็นยารักษาโรคไข้เหลือง
วิธีกิน ใช้ส่วนรากนำมาต้มน้ำ กินวันละ 2-3 ครั้ง หรือนำมาต้มเพื่อใช้สำหรับอาบ เคยนำมารักษาโดนใช้ยาเพียง 2 มัดก็หายขาด (มัดละประมาณ 1 กำมือ)
4. กรีไว
สรรพคุณ ยาแก้ท้องเสีย เป็นระดูขาว โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคไส้เลื่อน โรคริดสีดวงทวาร
วิธีกิน นำส่วนเถามาต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง
5. เบอยั่น
สรรพคุณ เป็นยาแก้โรคลมพิษ
วิธีกิน ใช้ส่วนต้นนำมาต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง
6. ตูโยะลางิ
สรรพคุณ เป็นยาแก้ไขมาลาเรีย
วิธีกิน ใช้ส่วนต้นมาต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง กินจนไม่มีไข้
7. สะดวง
สรรพคุณ เป็นยาแก้ไข้หวัด โรคไซนัส
วิธีกิน ใช้ส่วนหัวของสะดวง นำมาฝนแล้วทาบริเวณหน้าผาก สองข้างจมูกและที่รูจมูก
8. กาลัง
สรรพคุณ เป็นยารักษาโรคนิ่ว
วิธีกิน ใช้ส่วนต้นมาต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง
9. บอฮอล
สรรพคุณ เป็นยาแก้โรคเหน็บชา
วิธีกิน ใช้ส่วนต้นมาต้มกินวันละ 2-3 ครั้ง
10. ชามังตะบาน
สรรพคุณ เป็นยาแก้โรคมะเร็งที่เจ็บในอก
วิธีกิน ใช้ส่วนหัวมาต้มน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง ถ้าเป็นที่ผิวหนังใช้ทาแทน
11. บีโซล
สรรพคุณ เป็นยาแก้ฝี
วิธีกิน นำใบมาตำแล้วโปะบริเวณที่เป็นฝี จะช่วยลดอาการอักเสบ
สิ่งประดิษฐ์ของชาวซาไก
สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นอาวุธ
กระบอกตุด เป็นอาวุธประจำกายของชุมชนเผ่าซาไกชนิดหนึ่งที่ผู้ชายทุกคนต้องมีติดตัวตลอดเวลา ใช้เป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์และเป็นอาวุธป้องกันตัว กระบอกตุดเป็นชื่อเรียกภาษาไทยภาคใต้ คำว่า “ตุด” เรียกในชื่อภาษาซาไกว่า “ บอเลา” ทำจากไม้ใผ่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าไม้ซาง เป็นไม้ไผ่ที่เป็นปล้องยาวและตรง วิธีทำชาวซาไกจะนำเอาไม้ไผ่หรือไม้ซางยาวประมาณ 1 วา มาทะลุปล้อง แล้วตัดให้ตรง ปอกเปลือกนอก ตกแต่งเปลือกชั้นในทำเป็นตัวกระบอก(บอเลา) แล้วนำไม้ซางอีกหนึ่งอัน มาทะลุปล้องแล้วสวมทับกระบอกเลาอีกชั้นหนึ่ง ไม้ซางที่เป็นกระบอกชั้นจะแกะสลักลวดลายสวยงาม
สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องดนตรี
เครื่องบันเทิงที่ทำให้เกิดเสียงดนตรี มี 8 ชนิด และไม่มีชื่อเรียกแต่เรียกชื่อรวมกันว่า “บาแตช” ประกอบด้วย
ชนิดที่ 1 หรือ บาแตช 1 มีลักษณะเป็นกระบอกกลมทำจากไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1 เมตร ทะลุข้อหมดทุกข้อ เว้นแต่ข้อสุดท้ายไม่ต้องทำให้ทะลุ แต่เจาะรูกว้าง ขนาดปลายนิ้วก้อย
วิธีเล่น คือใช้ในไม้ใหญ่ ๆ ตีทางปากกระบอกด้านที่เจาะทะลุข้อ หรือปล้องทั้งหมด จะเกิดเสียงดัง บึง.....บึง.....บึง....
ชนิดที่ 2 หรือ บาแตช 2 ทำจากไม้ไผ่ ยาวประมาณ 2 ฟุต ปลายข้างหนึ่งตัดหน้าตรง อีกข้างหนึ่งตัดในลักษณะเฉียง ทะลุข้อไม้ไผ่หมดทุกข้อ
วิธีเล่น ใช้ฝ่ามือใหญ่ ๆ ตีทางกระบอกด้านที่ตัดตรง จะให้เสียงซึ่งแหลมกว่าบาแตช 1 เล็กน้อย
ชนิดที่ 3 หรือบาแตช 3 ชนิดนี้ชาวบ้านทางปักต์ใต้ของไทย เรียกว่า “โทนเงาะ” หรือกลองจำปี ทำจากไม้ไผ่ขนาดกลางตัดมา 1 ปล้อง ให้มีข้อต่อติดอยู่ทั้ง 2 ข้าง วัดเข้ามา 1 นิ้ว แล้วใช้มีดคมเฉือนผิวไม้ไผ่ทิ้งตลอด กว้างประมาณ 1 นิ้ว เจาะรูเส้นผ่าศูนย์กลาง ½ เซนติเมตร ไว้ตรงกลางท่อนไม้ไผ่ ระหว่างรอยที่ถูกเฉือนทิ้งไปนั้น แล้วใช้ปลายมีดกรีดแงะเอาผิวไม้ไผ่ให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ยาวตลอดแนวรอยผิวที่ถูกเฉือนทิ้งทั้งสองข้าง ก็จะได้เส้นไม้ไผ่ 2 เส้นขนานกัน แล้วใช้หวายมัดปลายของปล้องไม้ไผ่ทั้งสองข้างให้แน่นป้องกันไม่ให้เส้นไม้ไผ่สองเส้นนี้ฉีกขาดออกจากปล้อง แล้วใช้หมอนรองเส้นไม้ไผ่ทางด้านปลายทั้งสองข้าง ต่อจากนั้นใช้ไม้ไผ่แผ่นบาง ๆ กว้างประมาณ 1 นิ้ว ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ผ่าเล็กน้อยระหว่างกลางตามแนวนอนแล้วนำไปเสียบไว้ระหว่างเส้นไม้ไผ่ ให้อยู่บนรูที่เจาะไว้บนผิวไม้ไผ่ด้านตรงกันข้ามแบบเดียวกันนี้
วิธีเล่น เครื่องดนตรีชนิดนี้ คือใช้ตีตรงแผ่นไม้ไผ่บาง ๆ ที่อยู่บนรูกลางปล้องไม้ไผ่ เสียงจะสูงหรือต่ำก็แล้วแต่ความตึงหย่อนและขนาดเล็กใหญ่ของเส้นไม้ไผ่ที่ใช้หมอนรอง
ชนิดที่ 4 หรือ บาแตช 4 ทำจากไม้ไผ่ ปล้อง ขนาดเดียวกันกับกลอง จำปี ปลาย ด้านหนึ่งตัดให้ติดข้อ อีกด้านหนึ่งไม่ให้ติดข้อ ด้านนี้ผ่าผิวไม้ไผ่แล้วสอดกาบหมากที่ตัดให้กลมขนาดพอดี กับวงกลมของปล้องไม้ไผ่
วิธีเล่น ใช้มือตีบนกาบหมากนั้น
ชนิดที่ 5 หรือ บาแตชที่ 5 ทำจากไม้ไผ่ ขนาดเท่าข้อมือยาวประมาณ 1 ฟุต ตัดไม่ไผ่ให้มีข้ออยู่ห่างจากปลาย ด้านหนึ่งเล็กน้อยพอจับถือได้ เจาะ 2 รู ให้อยู่ห่างข้อประมาณ 1 นิ้ว ห่างจากรูเล็กน้อย ให้ปาดไม้ไผ่ให้เป็นรูซ่อม 2 ขา
วิธีเล่น ใช้ด้านที่เป็นรูซ่อมนี้เคาะกับฝ่ามือ จะให้เสียงดัง หวึง...หวึง...หวึง...
ชนิดที่ 6 หรือ บาแตชที่ 6 มีลักษณะคล้ายไม้กรับในเมืองไทย วิธีทำ ทำจากไม้ไผ่ 2 อัน ขนาดใหญ่พอจับถือได้ถนัด ยาวประมาณ 1 ฟุต
วิธีเล่น ใช้ตีให้มีเสียงดังกรับ...กรับ...กรับ...
ชนิดที่ 7 หรือ บาแตชที่ 7 วิธีทำ ทำจากกะลาหรือเศษวัสดุอื่นๆ ตามแต่สะดวก
วิธีเล่น ใช้เป็นเครื่องเคาะให้จังหวะ เช่นเดียวกับ บาแตช 6 ไม้กรับ นั่นเอง
ชนิดที่ 8 หรือ บาแตชที่ 8 วิธีทำ ทำจากไม่ไผ่ 1 ปล้อง ความยาว ประมาณ 2 ฟุต ตัดให้ติดข้อทั้งสองด้าน เจาะรูขนาดปลายนิ้วก้อยลงบนข้อไม้ไผ่ทั้ง 2 ด้าน แล้วใช้หวายขนาดเล็กมัดขึงให้ตึงตลอดหัวท้าย
วิธีเล่น ใช้นิ้วดีดหวายให้กระทบ กับผิวไม้ไผ่ จะได้เสียงดัง แต๊ก.. แต๊ก..แต๊ก...

วัฒนธรรมความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวซาไก
ชาวซาไกมีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ และเกรงกลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เชื่อในไสยศาสตร์เวทมนตร์ และข้อห้ามทางสังคม ที่พวกเขากำหนดขึ้น ลักษณะของความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในสังคมของชาวซาไก สรุปได้ดังนี้

1. ความเชื่อเรื่องโชคลาง
1) ซาไกเชื่อว่า เมื่อเดินป่าผ่านบริเวณใดเกิดขนลุกขนพองใจคอสั่น แสดงว่าบริเวณนั้นเจ้าที่แรง ห้ามไปทำร้ายสัตว์หรือตั้ง”ทับ”ที่อยู่อาศัย เพราะจะถูกผีเจ้าที่ลงโทษถึงตาย
2) ซาไกเชื่อว่า ถ้าเริ่มออกเดินทางบังเอิญสะดุดหกล้มลงห้ามเดินทางอีก ถ้าเดินทางอีกต้องเปลี่ยนทิศทางที่จะไป มิฉะนั้นจะเป็นอันตราย
3) ถ้าเข้าป่าล่าสัตว์ห้ามพูดว่าจะไปทิศทางใด ถ้าเผลอพูดออกไปแล้วให้เปลี่ยนทิศทางเดิน
4) ถ้าจะเข้าป่าล่าสัตว์อะไร ให้พูดเรื่องสัตว์หรือเรียกชื่อสัตว์ชนิดนั้น จะสามารถล่าได้ตามที่พูด
5) เข้าป่าล่าสัตว์ห้ามพูดถึงสัตว์ร้าย
6) ถ้ามีคนมาเอ่ยปากขอลูกไปเลี้ยง เชื่อว่าเป็นลางตายของลูกคนนั้น
2. ความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถา
1. ซาไกเชื่อว่า เวทมนตร์คาถาใช้รักษาโรคได้ หมอผู้รักษาโรคจะเสกหมากพลู แล้วเคี้ยวพ่นอวัยวะที่เจ็บปวด เรียกวิธีรักษาว่าทำ “ซาโฮซ”
2. ซาไกมีเวทมนตร์กันผีว่า “ตก ตกโล่ยซะลีโตย ฮะลีเวาะ มะนาเยาะ จะปะซุล จะเปรซ” หมอจะท่องบ่น เวทมนตร์และเสกเป่าไปที่หัวไพล แล้วมอบหัวไพลให้เจ้าของศพเคี้ยว พ่นลงบนศพ เชื่อว่าผีจะไม่มาหลอกหลอน
3. ซาไกเชื่อว่าเวทมนตร์ป้องกันผี หรือสัตว์ร้าย เมื่อออกจากทับไปค้างคืนในป่าได้ คือพวกเขาจะเสกก้อนหิน โยนไปรอบที่นอน ทั้งสี่ทิศ ภูติผีสัตว์ป่า จะไม่มารังควาน
4. ซาไกเชื่อว่าเวทมนตร์ใช้ในการทำคลอดได้ โดยหมอผู้ทำคลอดจะว่ามนต์ดังนี้ “ ตุ้งตุงฮู ลีโตลีปิโฮ คามาซาไกนิฮิฮุด มาตีซิมู” คำว่ามนต์ หมายถึง การเสกคาถาแล้วเป่าลงไปที่ท้องของมารดาที่จะทำการคลอด เชื่อว่าจะคลอดง่ายและไม่เจ็บ
5. ซาไกเชื่อว่าเวทมนตร์ที่ใช้ เรียกผีพรายที่ชื่อว่า “เซมังงัด” ให้มาสิงสู่อยู่ในน้ำมันเสน่ห์ หรือให้ เซมังงัดไปเข้าสิงคนอื่นให้คลั่ง หรือเป็นบ้าได้
3. ความเชื่อเรื่องวิญญาณและภูตผี
1. ซาไกเชื่อว่า คนตายไปแล้ว วิญญาณจะเหลืออยู่ และหลอกหลอนญาติพี่น้องได้ ดังนั้นเมื่อมีคนตาย พวกเขาจะย้ายทับไปอยู่มี่อื่นเมื่อฝังศพเสร็จ
2. ซาไกเชื่อว่าผีจะสิงอยู่ในต้นไม้ใหญ่ เพราะเมื่อฝังศพเสร็จแล้วหมอผี จะนำวิญญาณไปไว้ที่ต้นไม้ และเชื่อว่าวิญญาณ จะอยู่ที่ต้นไม้นั้นต่อไป
3. ซาไกเชื่อว่า สัตว์เดินดินซึ่ง พวกเขาเรียกว่า”สัตว์ล่าง” จะมี “รังควาน” แรง เมื่อยิงรังควาน หมายถึง การผูกพยาบาทสัตว์นั้นๆ ตายลง จะต้องรีบทำพิธีถอนรังควาน หรือเรียกว่า ปัดรังควาน หรือถอนพยาบาท คือการส่งให้วิญญาณไปเกิดใหม่ หรือการขอขมา ต่อวิญญาณของสัตว์นั้นๆ นั่นเอง ถ้าไม่ทำพิธีถอนรังควาน วิญญาณจะเข้าสิงในร่างของผู้ล่าสัตว์ แล้วผู้นั้นจะมีอาการกริยาเหมือนสัตว์นั้น จะวิ่งเข้าป่าและถูกสัตว์ชนิดเดียวกันทำร้ายถึงตายได้
4. ซาไกเชื่อว่าสัตว์ทุกชนิดเป็นบริวารของผีชื่อ โต๊ะปาวั่ง ดังนั้น ก่อนยิงสัตว์ทุกครั้งจะต้องเอ่ยคำขอจากโต๊ะปาวั่ง เสียก่อน
5. ซาไกเชื่อว่าผีเป็นวิญญาณอยู่ในที่มืดๆ ทุกแห่ง พวกเขาจึงกลัวความมืด และต้องก่อไฟไว้ในทับตลอดเวลา ดับไม่ได้ เชื่อว่าผี เป็นวิญญาณ 4 จำพวก
5.1 วิญญาณสัตว์ที่ตายไปแล้ว เรียกว่า “วิญญาณ บาดี” เชื่อว่าวิญญาณนี้เข้าสิงใครแล้วจะทำเสียงคล้ายสัตว์นั้นๆ กิริยาท่าทางก็คล้ายสัตว์นั้นๆ
5.2 วิญญาณของคนที่ยังไม่ตาย หรือเจตภูต แต่จะออกไปเที่ยวขณะที่คนผู้นั้นนอนหลับ เรียกว่า “วิญญาณโรย)
5.3 วิญญาณที่ออกจากร่าง คนตายล่องลอยไปจนมีที่เกิดใหม่ ถ้าไม่มีที่เกิดเข้าครรถ์ผู้หญิงคนใดไม่ได้ ก็จะเที่ยวหลอกหลอน และทำอันตรายได้ เรียกว่า “วิญญาณเยา”
5.4 วิญญาณจำพวก ผีพราย ซึ่งหมอผี หรือผู้มีอาคมสามารถ เรียกมาใช้ให้สิงสู่อยู่ในน้ำมันเสน่ห์ หรือเสกเป่าให้เข้าร่างของผู้ใดก็ได้ เรียกว่า “วิญญาณเซมังงัด”
4. ความเชื่อเรื่องสุขภาพ
ชาวซาไกเชื่อว่าผู้หญิงแม่ลูกอ่อนให้กินได้เฉพาะกล้วยไข่ ปลาเค็ม เกลือ แต่ห้ามกินหัวเผือก ขนุน กล้วย หิน กล้วยน้ำหว้า
5. ความเชื่อเรื่อง การรักษาความบริสุทธิ์ของหญิงสาว
สังคมชาวซาไก เชื่อในการรักษาพรหมจรรย์ของผู้หญิงอย่างเคร่งครัด จะต้องรักษาความบริสุทธิ์ไว้ไห้ชายเพียงคนเดียวเท่านั้น และจะไม่ล่วงเกินได้เสียกันก่อนแต่งงาน ถ้าเพียงแต่ผู้ชายหนุ่มถูกเนื้อต้องตัวหญิงสาวเข้าเท่านั้น ผู้หญิงจะยึดถือเสมือนว่าผู้ชายผู้นั้นเป็นสามีของนางแล้ว
6. ความเชื่อเรื่องสัญลักษณ์
ชาวซาไกจะเชื่อเรื่องรูปสัญลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเห็นจากธรรมชาติ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศ หรือความรักระหว่างชายกับหญิง การเกี้ยวสาว เช่น “หวีประดับผม” มีความหมายว่า ยังเป็นสาวบริสุทธิ์ยังไม่ได้แต่งงาน ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่ใช้หวีประดับผม “ปักกำ” มีความหมายว่าเป็นบริเวณที่สามี-ภรรยากำลังแสดงบทรักด้วยการร่วมประเวณีกันอยู่ ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใกล้ “ดอกจำปูน สีขาว” มีความหมายว่าเป็นผู้ชาย “ดอกฮาปอง สีแดง” มีความหมายว่า ผู้หญิงและความรัก “เล็บมือ” มีความหมายว่ากล้าหาญ ต่อสู้ หรือดุร้าย “ใบไก่เถื่อน” มีความหมายว่าผู้ชายพาผู้หญิงหนี คือ การไปครองคู่กันตามลำพัง ไม่ได้แต่งงานหรือได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่
7. ความเชื่อเรื่องความฝัน
ชาวซาไกเชื่อว่า ความฝัน เป็นลางบอกเหตุ หรือบอกโชคลางในวันข้างหน้า เช่น ผู้หญิงฝันว่ามีผู้นำอาเล็บเสือมาให้ ทำนายว่าจะมีสามี ถ้าผู้ชายฝันว่าล่าหมูได้จะได้ภรรยา ถ้าฝันว่ายิงสัตว์ได้จะเป็นลางดี ถ้าฝันว่าถูกสัตว์ทำร้ายจะเป็นลางร้าย เป็นต้น
8. ความเชื่อเรื่องข้อห้าม หรือกฏเกณฑ์บางประการ
ชาวซาไกมีข้อห้ามสำหรับ สามี-ภรรยา ว่าห้ามไม่ให้ร่วมประเวณีกันใน”ทับ” ห้ามไม่ให้ลูกสะใภ้หุงข้าว เผามันให้พ่อสามีกิน แม้เวลาป่วยไข้ก็ไม่ได้ ห้ามลูกสะใภ้นั่งสนทนาวงเดียวกันกับพ่อสามี ถ้าจำเป็นต้องนั่งวงเดียวกัน จะต้องนั่งหันหลังให้กัน และมีผู้อื่นนั่งกั้นกลาง
วัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวซาไก
ประเพณีการเกิด
สังคมของชาวซาไก ถือว่าผู้เป็นแม่จะให้กำเนิดทารกนั้นมีความสำคัญมาก ผู้มีบาบาทในการช่วยเหลือผู้เป็นมารดา คือหมอตำแย ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “โต๊ะดัน” หรือ “โต๊ะบีดัน” ในระยะเจ็บท้องใกล้คลอดนั้น โต๊ะดัน จะนำยาชนิดหนึ่งมาทาบริเวณหน้าท้องมีการนวดท้อง เพื่อช่วยให้คลอดง่าย และขณะรอ ให้เด็กคลอดออกมา โต๊ะดันจะว่าคาถาดังนี้ “ ตุ้งตุงฮู ฮีโตลีบีโฮ ตามาซาไก ริฮิฮุด มาตีซิมู” เมื่อคลอดแล้ว โต๊ะดันจะเตรียมน้ำอุ่น สำหรับอาบน้ำให้ทารก น้ำอุ่นนี้จะเป็นน้ำอุ่นผสมยากับใบเตยให้มีกลิ่นหอม เมื่ออาบน้ำเสร็จ แล้วอุ้มเด็กไปห่อด้วยผ้า และวางบนแคร่ ถ้าเด็กมีอาการชัก โต๊ะดันจะใช้ หัวไพล ไปปิดที่หูของแม่ เชื่อว่าอาการชักจะหายไป และจะตัดสายสะดือ ด้วยเครื่องมือทำจากไม้ไผ่บางๆ การตัดสายสะดือให้เหลือยาวเลยขาของเด็กเล็กน้อย คล้ายคลึงกับวิธีการของชาวไทย มุสลิมภาคใต้ทั่วไป แม่จะเป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก ด้วยน้ำนมแม่ แต่ถ้าแม่ไปทำงาน โต๊ะดันจะเลี้ยงเด็กด้วยผลไม้จำพวก กล้วย เผือก มัน
ประเพณีการแต่งงาน
สังคมของชาวซาไก ไม่มีการจัดพิธีแต่งงานระหว่างหนุ่ม-สาว แต่จะใช้วิธีการง่ายๆ ในการที่จะอยู่ครองคู่เป็นสามี-ภรรยากัน คือ เมื่อชายหนุ่มหญิงสาวพอใจกันฝ่ายหนุ่มก็ให้พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ฝ่ายตน ซึ่งอาจอยู่ทับติดกันกับฝ่ายหญิงไปสู่ขอ ถ้าผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงตกลงก็ให้มีการกินเลี้ยงกัน ในการกินเลี้ยงนั้นฝ่ายหนุ่มต้องแสดงความสามารถในการล่าสัตว์มาเลี้ยงเพื่อนฝูง และฝ่ายหนุ่มต้องเป็นผู้สร้างทับที่อยู่อาศัย เมื่อกินเลี้ยงเสร็จ สร้างทับเสร็จแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวไปยังทับของตน และอยู่กินกันอย่างสามี-ภรรยา เท่านั้นเอง
ประเพณีการตาย
ลักษณะประเพณีการตายของชาวซาไก เมื่อสมาชิกในกลุ่มคนใดคนหนึ่งถึงแก่กรรมลง ญาติพี่น้องของผู้ตายจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้จะต้องไปขุดหลุมฝังศพ กว้างประมาณ 2 ศอก ลึกประมาณ 3 ศอก ยาวประมาณ 3 ศอก ที่ตั้งของหลุมจะตั้งอยู่บนเนินใกล้ๆ ลำธาร ห่างจากที่พักประมาณ 100 เมตร หลังจากขุดหลุมแล้วเขาจะตัดไม้ไผ่รองพื้นด้านล่าง โดยวางไม้ไผ่เรียงลำดับให้เรียบร้อย สวยงาม ให้หัวไม้ไผ่หันไปทาง ทิศตะวันตก และวางเป็นแนวเรียงขนานกัน ต่อมาจะตัดไม้ไผ่มาวางเรียงตามขวางกับแนวแรกเป็นชั้นไม้ไผ่ชั้นที่ 2 เมื่อตกแต่งเรียบร้อยแล้ว หมอผีจะนำเอาหัวไพล ขนาดเท่านิ้วก้อยมาปลุกเสก ส่งให้ญาติของศพ เคี้ยวจนละเอียดแล้วพ่นลงในหลุมแล้ว ญาติของผู้ตายจะยกศพลงหลุม เมื่อเสกหัวไพลเรียบร้อยแล้ว แล้ววางศพให้หัวไปทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศใต้ ศพจะนอนในลักษณะงอคู้ เมื่อวางศพเสร็จแล้วนำ ไม้ไผ่ซีกมาวางบนศพอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ปลายปักลงดินด้านหนึ่ง และพาดปากหลุมอีกด้านหนึ่งไม้ไผ่ที่ใช้จะตัดจากบริเวณใกล้ๆ กับหลุมฝังศพ ศพที่จะนำลงหลุมนั้นจะห่อด้วยผ้า ซึ่งเป็นผ้าของผู้ตายทั้งหมดที่มีอยู่ และต้องห่อให้มิดชิด พับเข่าศพให้คู้เข้ามา แล้วนำไปวางบนแคร่ไปยังหลุมที่เตรียมไว้ เมื่อยกศพลงหลุมแล้ว แคร่นั้นจะถูกตัดออกให้พอดีกับหลุมวางพาดบนปากหลุมให้เรียบร้อยปูใบไม้ในแนวขวางกับยแคร่ เมื่อปูใบไม้ตลอดหลุมแล้วก็จะให้ญาติผู้ใหญ่ของผู้ตายขึ้นไปย่ำบนปากหลุมให้แน่น และให้สร้างเพิงหมาแหงนไว้รอบๆ หลุมศพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าสร้างบ้านให้ ศพจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน เรื่องที่อยู่อาศัยของศพ เพราะมีบ้านอยู่แล้ว ตกตอนกลางคืนพ่อแม่ของผู้ตายต้องไปก่อไฟไว้บนหลุมศพเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ศพ
พิธีสวดศพ จะกระทำต่อเมื่อกลบหลุมเรียบร้อยแล้ว โดยญาติของผู้ตายพร้อมเพื่อนบ้านจะกลับไปทีทับและทำพิธีสวดที่ทับของผู้ตาย เครื่องใช้ในพิธีสวดศพประกอบด้วย เหล้า ธูป เทียน ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ผู้นำในการสวดศพ คือ หมอผีเท่านั้น เมื่อสวดศพเสร็จแล้ว จะมีการกินเลี้ยงที่ทับของผู้ตาย
วัฒนธรรมทางภาษาของชาวซาไก
ซาไกเป็นคนป่าเผ่าหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีตระกูลและภาษา เป็นของตนเอง แบ่งออกเป็น 4 ภาษา
1) ภาษาแด็นแอ็น ใช้ในหมู่ชาวซาไกที่อยู่อาศัยในจังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล
2) ภาษาเดียแด ใช้อยู่ในหมู่ชาวซาไกในจังหวัดยะลา นราธิวาส
3) ภาษายะฮาย ใช้อยู่ในหมู่ซาไกตอนเหนือของมาเล
4) ภาษากันซิว ใช้ในหมู่ซาไกที่อยู่อาศัยแถบอำเภอธารโต จังหวัดยะลา
ต้นตระกูลภาษาของซาไก ได้มีผู้รู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาและนิรุคติศาสตร์ทั้งของไทย คือ พระยาอนุมานราชธน นายสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และฝรั่ง คือ นายจอร์น เอช แบรนด์ ได้มีความเห็นตรงกันว่า ภาษาซาไกมีต้นตระกูลมาจากภาษามอญและภาษเขมร ซึ่งเรียกว่า ตระกูลออสโตรเซียนติค เป็นภาษาชนิคำโดด ซึ่งมีบางคำเป็นคำควบติดต่อกัน แต่ไม่มาก จำนวนคำในภาษาซาไกแท้จริงนั้น มีน้อยคำที่เกิดขึ้นมีเท่าที่จำเป็นและต้องการใช้ในการสื่อความหมายเท่านั้น ซาไกรับเอาภาษามลายู ไปใช้และรับเอาภาษาไทยไปใช้ด้วย แต่จะรับเอาเฉพาะคำที่เป็นประโยชน์ต่อเขาเท่านั้น ลักษณะของคำที่นำมาจากภาษามลายู โดยดัดแปลงเสียง รูปคำและความหมาย

ซาไกในยุคปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลไทย ได้มอบหมายให้ราชบัณฑิตยสถานจัดทำหนังสือพจนานุกรม และหนังสือสารนุกรมขึ้น และได้บันทึกไว้ว่า เงาะป่าในแหลมมลายู มี 2 เผ่า คือ เผ่าเซมัง ซึ่งเข้ามาอยู่ในแหลมมลายูก่อนเผ่าซาไก และยึดครองพื้นที่ตอนบนบริเวณภาคใต้ของไทย และตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย อีชื่อหนึ่งว่า นิกริโต มีจำนวน 4,500 คน ส่วนเงาะซาไกอาศัยอยู่บริเวณรัฐเประ ปะหัง เป็นตระกูลออสโตรเนเซียน เป็นพวกมองโกลลอยด์ เส้นผมหยิก มาเลเซีย เปลี่ยนชื่อเป็น ซีนอย และโอรัง อัสลี มีจำนวน 73,000 คน
ชาวซาไกหรือเงาะป่า ในภาคใต้ของประเทศไทยนั้น ได้ชื่อว่าเป็นประชากร หรือกลุ่มชาติพันธ์กลุ่มหนึ่งของประเทศ แต่ในขณะนี้ไม่ได้รับการลงทะเบียนสำมะโนครัว และยังไม่ได้รับบัตรประชาชน ซาไกอยู่กับธรรมชาติอย่างสงบไม่มีพิษภัยใดๆ ซาไกอยู่อย่างไม่มีผลได้ในทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติ ได้รับการเอาใจใส่ดูแล เชิงอนุรักษ์จากภาครัฐน้อย ส่วนใหญ่จะปล่อยให้ชีวิตซาไกเป็นไปตามยะถากรรม ใกล้ชิดกับสังคมเมืองมากขึ้นโดนเอาเปรียบจากสังคมเมือง การพัฒนาเชิงอนุรักษ์ในเชื้อชาติและความเป็นอยู่อย่างเหมาะสมมีน้อย แต่จะถูกบุกรุกจากวัฒนธรรมสมัยใหม่ของชาวบ้านชาวเมือง จนกระทั่งขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่เป็นแบบยุคหินกลางคงจะสูญหายและถูกกลืนให้กลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในตำนานเท่านั้น
อาชีพและการศึกษา
อาชีพซาไกส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ถางป่า ทำสวน ขายสมุนไพรและของป่า สำหรับการศึกษาไม่มีสถานศึกษา การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนเน้นการปฏิบัติจริง ผู้สอนคือพ่อแม่ ผู้เรียนคือเด็ก ๆ และสมาชิกทั่วไป หลักสูตรที่สอนคือ การดูทิศทาง เรียนรู้ธรรมชาติของสัตว์ วิธีหาอาหารและเครื่องยาจากป่า เวทย์มนต์คาถาที่จำเป็น การทำและการใช้อาวุธ
ทุกวันนี้จังหวัดพัทลุง จังหวัดสตูล จัดการศึกษาให้เงาะป่าได้มากขึ้น ในปี พ.ศ. 2541 จังหวัดสตูล รับลูกชาวเงาะป่า 4 คน เข้าเรียน ในโรงเรียนบ้านวังลายทอง อำเภอละงู โรงเรียนอยู่ห่างจากอำเภอ 30 กม. และพวกเงาะป่าอพยพมาตั้งทับอยู่ห่างจากโรงเรียนไปทางเหนือ 10 กม. หัวหน้ากลุ่มเงาะป่า ชื่อนายไข่ได้ส่งลูก 3 คน เข้าเรียนที่โรงเรียนนี้ พร้อมลูกเงาะป่าอื่นอีก 1 คน รวม 4 คน
วิเคราะห์ภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาของเงาะป่าซาไกเป็นภูมิปัญญาสั่งสม ที่มีมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันและภูมิปัญญาบางส่วนมีการผสมผสานระหว่างความรู้ดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่ และภูมิปัญญาที่ได้จากบทเรียนชีวิตจริงตามธรรมชาติจะมีความรู้ปรากฏอยู่ในเครื่องใช ยาสมุนไพร ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ช่วยให้สังคมซาไกมีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างมั่นคง สามารถวิเคราะห์ภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
ด้านชาติพันธ์และชื่อที่ใช้เรียก คนไทยรู้จักชาวซาไกมานานในชื่อที่เรียกว่า “เงาะ” ดังจะเห็นได้จากบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงให้ตัวเอกปลอมตัวสวมรูปเงาะ และบทพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องเงาะป่า นอกจากจะเป็นบทชิงรักหักสวาทแล้ว ยังทรงพรรณนาถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่และภาษาของชาวเงาะไว้ด้วย ชื่อซาไกในปัจจุบันมีความหมายเหมือนคนอื่น ๆซึ่งหมายถึงมนุษย์เผ่าหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือ ผิวดำ ตัวเล็ก และผมหยิกเป็นฝอย และที่เรียกว่าเงาะเพราะมีผมหยิกใกล้เคียงกับเปลือกเงาะ
นิสัยใจคอ โดยปกติมีอุปนิสัยร่าเริง ชอบดนตรีและเสียงเพลง กลัวคนแปลกหน้า ยิ้มง่ายเมื่อคุ้นเคยกัน เกลียดการดูถูกเหยียดหยาม พูดน้อยตรงไปตรงมาไม่มีเล่ห์เหลี่ยม นับถือผู้ใดแล้วจะเคาระเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด กลัวผี อดทน กินจุ กินเก่ง ถ้าไม่มีก็อดได้เป็นวันสองวัน จิตใจสงบสะอาดบริสุทธิ์จนถ้าดูฉาบฉวยแล้วจะมองว่าเป็นคนโง่ ไม่ฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยาน ไม่มีความคิดที่จะกักตุนอาหาร ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ มีความชื่นชมอยู่กับป่าเขาลำเนาไพร เนื่องมาจากในป่าที่อาศัยมีความอุดมสมบูรณ์จะหาอาหารตามธรรมชาติเมื่อใดก็ได้ จึงไม่มีการกักตุนสะสมอาหาร อีกสาเหตุหนึ่งอาจมาจากนิสัย สภาพการเป็นอยู่เดิมที่ต้องอพยพเร่ร่อนอยู่เสมอ จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องเก็บตุนเพราะจะเป็นภาระเมื่อถึงคราวอพยพและไม่มีความจำเป็นต้องเพาะปลูกเพราะไม่ทันได้ผล พวกเขาก็ถ่ายอุจจาระถึงที่พักเสียก่อนแล้ว ต้องอพยพทิ้งที่อยู่ไปหาที่อยู่แห่งใหม่
ถิ่นที่อยู่อาศัย ซาไกในภาคใต้ของประเทศมีเพียงกลุ่มเดียวที่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน คือกลุ่มซาไกจังหวัดยะลา ส่วนซาไกกลุ่มอื่น ๆ ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน ยังอพยพเร่ร่อนอยู่ตามป่าเขาที่ห่างไกลและมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เงาะป่าซาไกจะเลือกที่อยู่อาศัยตามลักษณะทางภูมิศาสตร์คือ เลือกภูมิประเทศที่เป็นเนินสูง มีลำธารหรือน้ำตกอยู่ใกล้ ๆ มีป่าไม้ใหญ่ปกคลุมโดยทั่วไป มีสัตว์ เผือก มัน ที่ใช้เป็นอาหารอุดมสมบูรณ์
ประชากรและกลุ่มชาวซาไก ปัจจุบันซาไกในภาคใต้ของประเทศไทยมีประชากรรวมกันประมาณ 200 คน แยกตามกลุ่มภาษาได้ 4 กลุ่มภาษา และเป็นการยากมากที่จะระบุให้แน่ชัดว่ามีประชากรจำนวนเท่าไร เนื่องจากมีการอพยพโยกย้ายที่อยู่อาศัย มีการถ่ายเทประชากรระหว่างกลุ่ม และบางกลุ่มมีการเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียอยู่เสมอ
ภาษา ซาไกมีภาษาเป็นของตนเอง เป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) เป็นตระกูลภาษาใหญ่ตระกูลหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ ชาวซาไกมีภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน
ลักษณะสังคม ครอบครัวซาไกเป็นลักษณะครอบครัวพื้นฐาน การสมรสแบบผัวเดียวเมียเดียว ถือฝ่ายสามีเป็นใหญ่ในครอบครัว การนับกลุ่มญาติแบบ “ซิบ” (Sib) คือสามารถลำดับสายญาติไปถึงบรรพบุรุษได้ สังคมของซาไกเป็นลักษณะผสมผสานที่คาบเกี่ยวกัน คือถ้าพิจารณาจากศิลปะการยังชีพก็เป็นสังคมยุคล่าสัตว์และการหาอาหาร ถ้าพิจารณาจากพิธีกรรมการฝังศพก็เป็นยุคหินเก่าตอนปลาย และสมัยหินกลาง ถ้าพิจารณาจากแผนครอบครัวก็เป็นสังคมยุคอารยชน
ความเชื่อ ซาไกทุกกลุ่มไม่นับถือศาสนาใด เว้นแต่ซาไกกันซิวนับถือศาสนาพุทธ แต่การนับถือศาสนาเป็นแต่คำพูดตามชาวบ้านกลุ่มไทยพุทธที่แวดล้อมอยู่ ไม่ได้เข้าใจข้อธรรมใด ๆ ถึงแม้ชาวซาไกไม่นับถือศาสนาใด ๆ ไม่มีความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าแต่ชาวซาไกมีภูมิปัญญาในการสร้างสิ่งที่เหนือธรรมชาติขึ้นมาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ซึ่งซาไกสามารถบอกได้ว่าเกิดมาจากพ่อแม่ แต่บอกไม่ได้ว่าก่อนหน้านั้นมาจากไหนและตายแล้วไปไหน ที่เขาร้องให้เมื่อมีคนตายเพราะความรักและความผูกพัน ซาไกจะเชื่อเรื่องผี โดยคิดว่า พืช สัตว์ ลำธาร น้ำตกและทุกสรรพสิ่งเป็นของ “โต๊ะปาวัง” ก่อนจะหาจะใช้ต้องทำให้ถูกวิธีคือมีการขอโทษขอขมา ทำให้เกิดความเคารพในกติกา เกิดความยำเกรงและเกิดความพอเพียงในการหาอาหารและการล่าสัตว์ ปัจจุบันซาไกแถบเทือกเขาบรรทัด กลัวผีนกมากกว่าผีชั้นต่ำอื่น ๆ คือกลัว “ซาเราะกาเวา” แปลว่าผีนก คือเครื่องบิน ซาไกเชื่อว่า ผีนกจะไข่ออกมาแล้วไข่นั้นระเบิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทำให้คนบาดเจ็บล้มตายในทันที ชาวซาไกและชาวบ้านแถบเทือกเขาบรรทัดเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ทางการปราบคอมมิวนิสต์ โดยการทิ้งใบปลิวแบบปูพรม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ออกจากพื้นที่ ซึ่งพื้นที่นั้นซาไกอาศัยอยู่และอ่านหนังสือไม่ออก ก็เก็บเอาใบปลิวนั้นมาทำเป็นเชื้อเพลิงทำให้ทางการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จึงทิ้งระเบิดใส่พวกเขาตายหลายคน จึงกลัวผีนกนับแต่นั้นมา ในด้านความเชื่ออื่น ๆ เช่น
ความเชื่อเกี่ยวกับการหาอาหาร เวลาจะออกไปล่าสัตว์จะต้องไม่บอกให้ผู้ใดรู้ว่าจะไปทิศทางใดเพราะจะทำให้ผีป่าซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์รู้เสียก่อนทำให้ล่าสัตว์ไม่ได้ แต่ปัจจุบันความเชื่อเปลี่ยนไปเนื่องจากสามารถหาอาหารจากตลาดและร้านค้าได้ หรือความเชื่อที่ว่าห้ามมิให้เป่าบอเลาเล่นเป็นอันขาดและห้ามไม่ให้คนภายนอกจับต้อง แต่ปัจจุบันมีคนภายนอก นักศึกษาและนักวิชาการมาเยี่ยมชมวิถีชีวิตมากขึ้นได้ร้องขอให้เป่าบอเลาโชว์ให้ดูเพื่อแลกเงินทำให้ความเชื่อเริ่มหายไป
ความเชื่อเกี่ยวกับการแต่งกาย เชื่อว่าการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาประดับร่างกายทำให้สุขภาพดี ผีป่ามารบกวน หรือความเชื่อเกี่ยวกับการทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มว่าจะทำให้สัตว์ป่าจับกลิ่นหรือผิดกลิ่นเวลาออกล่าสัตว์ สัตว์จะหนีหมด จึงไม่ทำความสะอาดเครื่องแต่งกาย แต่ความเชื่อนั้นได้หายไปเพราะเกิดการเรียนรู้ว่าการทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มสามารถใช้ได้นาน
ความเชื่อเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัย เชื่อว่าการเลือกสถานที่เหมาะสมสำหรับสร้างที่พักจะทำให้อยู่สุขสบายไม่เจ็บป่วย คือเลือกแหล่งที่ไม่มีผีร้ายอยู่ หรือความเชื่อเกี่ยวกับรูปแบบที่อยู่อาศัยสร้างแบบเพิงหมาแหงนมีความเหมาะสมกับการอยู่ในป่าเพราะถ้าสัตว์ร้ายมาก็จะหนีได้ทันและสามารถออกได้รอบด้านสะดวกทุกทาง และการก่อสร้างด้วยการใช้ไม้ใหญ่เชื่อว่าจะทำให้ผีป่าทำร้าย เพราะต้นไม้เป็นที่อยู่ของผีป่า แต่แท้จริงแล้วเป็นกุสโลบายไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเพราะซาไกอาศัยเพียงชั่วคราวก็ต้องมีการอพยพย้ายถิ่นต่อไป เนื่องจากอาหารตามธรรมชาติหมด
ความเชื่อเกี่ยวกับยารักษาโรค ในอดีตเชื่อว่าสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคต้องเป็นสมุนไพรที่เก็บมาใหม่ ๆ และสดเท่านั้น และยาที่ดีจะต้องปรุงด้วยการต้ม ปิ้ง และตำ เท่านั้น แต่ปัจจุบันความเชื่อเปลี่ยนไปและเกิดความเชื่อใหม่ว่ายาสมุนไพรตากแห้งสามารถนำมารักษาโรคได้ดีเหมือนสมุนไพรสด และรู้ว่ายาที่ดีนอกจากจะปรุงด้วยการต้ม ปิ้ง ฝน หรือตำ สามารถดองยาสมุนไพรได้ด้วย
ผลของการปฏิบัติตามความเชื่อและพิธีกรรมของซาไก
ทางด้านจิตใจทำให้มีความรู้สึกสบายใจ มีความมั่นใจและมีความเชื่อมั่นในการกระทำในสิ่งที่ตนเชื่อถือว่าสามารถคุ้มครองให้มีความสุขความสบายใจได้ ในด้านพฤติกรรมการปฎิบัติตามความเชื่อในเรื่องสัญลักษณ์ ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ทำให้เงาะป่าซาไกสามารถอยู่รวมกันได้อย่างสงบเพราะมีความเคารพในกติกาและความเชื่อนั้นอย่างเคร่งครัด เป็นการสร้างนิสัยที่ดีให้กับสมาชิก เพราะการที่บรรพบุรุษใช้ความเชื่อต่าง ๆ โดยใช้การขู่หรือหลอกให้กลัวถือเป็นกุสโลบายอย่างแยบยลอีกวิธีหนึ่งของคนรุ่นเก่า ซึ่งเทียบได้ในปัจจุบันก็คือวิธีการอบรมสั่งสอนหรือการจัดระเบียบสังคมโดยการทำให้ดู อยู่ให้เห็น โดยไม่ต้องใช้กฎหมายแต่อย่างใด
อาชีพ ซาไกทุกกลุ่มยังไม่รู้จักการเพาะเลี้ยง แต่ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับสังคมชาวบ้านซึ่งเป็นสังคมเงินตรา ซาไกจึงต้องปรับตัวในลักษณะของการผลิตทางเศรษฐกิจด้วย คือการเก็บของป่า สมุนไพร น้ำผึ้งป่า ไม้กฤษณา มาขายชาวบ้าน นอกจากนั้นก็รับจ้างทำไร่ ทำสวน สำหรับค่าจ้างอาจเป็นเงิน เสื้อผ้าหรือข้าวสารของกินของใช้ ตามแต่จะตกลงกัน
ลักษณะที่อยู่อาศัย จำแนกได้ 3 ยุคได้แก่
1. ยุคดั้งเดิมคือสร้างเป็นเพิงใบไม้อยู่ในป่าลึก ปลูกเป็นเพิงหมาแหงน เรียกว่า “ทับ”
2. ยุคปรับตัว เป็นยุคที่ซาไกรู้จักการเพาะเลี้ยง ไม่อพยพเร่ร่อน ลักษณะบ้านเรือนหลังคามีลักษณะเป็นจั่ว มุงด้วยใบไม้ที่แข็งแรงกว่าแต่ก่อน
3. ยุคพัฒนา เป็นยุคที่ซาไกสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งมีอยู่กลุ่มเดียวคือซาไกกลุ่มกันซิวที่อำเภอธารโตจังหวัดยะลา ลักษณะบ้านเรือนเหมือนชาวบ้านทั่วไป คือยกพื้นสูง มุงด้วยสังกะสี กันและปูด้วยไม้กระดาน
เครื่องนุ่งห่ม จากหลักฐานบันทึก จากพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ในรัชกาลที่ 2 และบทพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่าในรัชกาลที่ 5 แสดงให้เห็นว่าซาไกรู้จักใช้เครื่องนุ่งห่มเป็นเวลาไม่น้อยกว่าร้อยปีมาแล้ว แต่อาจจะเป็นเฉพาะกลุ่มที่ต้องสัมพันธ์กับชาวบ้านก็ได้ ปัจจุบันซาไกทุกกลุ่มรู้จักนุ่งห่มเสื้อผ้า แต่ไม่รู้จักใช้เสื้อผ้า บางครั้งฝนตกไม่มีฟืนก็ถอดเสื้อผ้าใส่กองไฟทำเป็นเชื้อเพลิง การรักษาความสะอาดไม่มีใช้จนขาดใช้การไม่ได้จึงเปลี่ยนใหม่
อาหาร ซาไกไม่รู้จักสะสมอาหาร จะกินจนหมดแล้วจึงออกหาใหม่ แสดงให้เห็นถึงความพอเพียง เพราะซาไกถือว่าอาหารตามธรรมชาติหาได้เสมอไม่ต้องกักตุน ถ้าหาสัตว์ใหญ่มาได้ก็จะนำมาเลี้ยงและแบ่งกันกิน
ยารักษาโรค เนื่องจากถิ่นที่อาศัยเป็นเขตร้อนชื้น จึงมีพืชสมุนไพรอุดมสมบูรณ์ ชาวซาไกรู้จักนำพืชสมุนไพรมาใช้เพื่อการบำรุงร่างกายและรักษาโรค แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันซาไกรู้จักใช้ยาสมัยใหม่ และรู้จักเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อเกิดการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาลจึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างความรู้ดั้งเดิมกับความรู้สมัยใหม่
แนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาภูมิปัญญาตามความเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน
เนื่องจากซาไกได้พบปะมีปฏิสัมพันธ์กับคนสังคมเมืองมากขึ้นทำให้วัฒนธรรมต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ คือสภาพของวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ แตกต่างไปจากเดิม ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อันเกิดจากสภาพภูมิประเทศเปลี่ยนแปลง เช่นป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้หาอาหารได้ยากเกิดความอดอยาก และความเจริญรุกไล่เข้าไปหาพวกเขาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแปลก ๆ ที่ยาสมุนไพรรักษาไม่หาย จากสภาพดังกล่าวทำให้วัฒนธรรมต่าง ๆ สูญหายไป จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวเงาะป่าอาจสูญพันธ์ไปในที่สุด จึงควรมีการอนุรักษ์ ส่งเสริมการ ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น ปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนและคนในสังคมรอบข้างของซาไกได้ตระหนักและภาคภูมิใจในการที่มีชนกลุ่มน้อยและมีภูมิปัญญาสั่งสมมากมายสามารถ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทั้งสองฝ่ายได้ พร้อมทั้งจัดการศึกษาให้ความรู้กับกลุ่มซาไก และ นำนักเรียนไปเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่หมู่บ้านซาไก ให้ซาไกสอนภูมิปัญญาต่าง ๆ ให้โดยสามารถทำเป็นชุมชนที่มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของเงาะป่าซาไก นอกจากนี้ หน่วยงานทางราชการควรให้ความสนใจ โดยการสร้างหมู่บ้านลักษณะนิคมสร้างตนเองเพื่อจะได้ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่น สร้างอาชีพที่มั่นคงก่อให้เกิดรายได้ประจำ จัดทำทะเบียนราษฎร์ ให้มีบัตรประชาชน ให้เป็นพลเมืองของไทย เพื่อป้องกันการอพยพย้ายถิ่นไปยังประเทศมาเลเซีย หรือจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อก่อให้เกิดรายได้กับซาไกและ มีการบันทึกภูมิปัญญาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
บทสรุป
ไม่มีสังคมใดในโลกนี้ที่มีลักษณะสถิตย์ (static) หยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะทุกสังคมประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายด้วยปัจจัยต่างๆ สังคมมนุษย์จึงมีลักษณะเป็นพลวัตร (Dynamic) คือมีการการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งกลุ่มสังคมของซาไกด้วย อันเนื่องจากปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายกับสังคมซาไก โดยเฉพาะวิธีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนเก็บของป่า ล่าสัตว์ อยู่ในป่าเทือกเขาบรรทัด อันเป็นลักษณะของกลุ่มสังคมล่าสัตว์ที่ดำเนินสืบเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งจัดว่าเป็นมรดกทางสังคมของกลุ่มชาติพันธ์โดยแท้จริง แต่เมื่อมีการติดต่อกับชาวบ้านทำให้เกิดการเรียนรู้และการถ่ายทอดแบบแผนในการดำรงชีวิตมาผสมผสานกับสภาพทางสังคมเดิมของตน ทำให้เกิดการปรับตัวของหน่วยต่างๆ ทางสังคมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบแผนในการดำเนินชีวิต ในช่วงเวลาต่อมาโดยจะพบว่าในปัจจุบันซาไกเปลี่ยนมาอาศัยในขนำ (กระท่อม)ของตนเองแทน การสร้างเพิงพักอย่างอดีตมีการใช้เสื้อผ้าตามแบบคนบ้านโดยเฉพาะเสื้อผ้าสีฉูดฉาดและกางเกงยีนส์จะเป็นที่นิยมมาก ภายในทับและขนำจะพบของใช้จากหมู่บ้านหลายชนิด เช่น แป้ง สบู่ อาหารกระป๋อง ผงชูรส ฯลฯ โดยซาไกเรียนรู้สภาพดังกล่าวจากชาวบ้านที่มาถางป่าทำไร่ในบริเวณนั้น และบางส่วนก็เคยเป็นแรงงานในไร่ทำการเพาะปลูกให้แก่ชาวบ้านมาก่อนโดยจะพบว่าในปัจจุบันซาไกกลุ่มนี้เริ่มที่จะถางป่า ตัดฟัน โค่น และเผาต้นไม้ลงเป็นบริเวณกว้าง เพื่อที่จะปลูกข้าวไร่ในช่วงฤดูฝนของแต่ละปี และเนื่องจากข้าวเปลือกเป็นอาหารที่สามารถจะเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน เมื่อจะกินก็นำมาตำในภายหลัง จึงอาจจะกล่าวว่าข้าวเป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารชนิดแรกๆที่มีการเพาะปลูกและเก็บไว้บริโภคในระยะเวลานานๆ ของกลุ่มซาไกที่ได้รับรูปแบบมาจากชาวบ้านใกล้เคียง
จึงกล่าวได้ว่าแบบแผนในทางสังคมและระบบการผลิตดังกล่าวเป็นการพัฒนาอีกขั้นตอนหนึ่งของสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะของกลุ่มซาไกแต่เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลและเกิดการเรียนรู้จากสังคมภายนอก มิได้เกิดขึ้นจากการพัฒนาศักยภาพในกลุ่มของสังคมของตนเอง เป็นปรากฏการณ์ของสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านและสืบเนื่องจากสังคมล่าสัตว์ ไปสู่สังคมเกษตรกรรม หรือสังคมชาวไร่ในโอกาสต่อไปข้างหน้า ภาพรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านในสังคมดังกล่าวจึงจัดเป็นพัฒนาการอีกลักษณะหนึ่งของสังคมซาไกที่ดำเนินไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ในสังคมไทยซึ่งต่างก็ต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้วัฒนธรรมพื้นฐานการดำรงชีพเปลี่ยนไปคือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลในกาปราบปรามคอมมิวนิสต์ ปัจจัยภายนอกได้แก่ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
จะเห็นได้ว่าชาวเงาะไม่ใช่คนโง่แต่เป็นคนบริสุทธิ์ ตามสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ซาไกจึงเป็นมนุษย์ผู้อาศัยในป่าแบบยั่งยืน และป่าใดที่มีซาไกอาศัยอยู่ บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของป่านั้นว่ายังบริสุทธิ์ อยู่อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ







๔ ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

คิดถึงอาจารย์ขนิษฐามากๆเลยค่ะ

อาจารย์สบายดีรึปล่าวคะ

หนูชื่อ น้ำฟ้าค่ะ ตอนนั้นเรียนคณิตศาสตร์กับอาจารย์ที่ นาฏศิลป อ่ะค่ะ

คิดถึงอาจารย์มากๆๆๆๆคร้า

Unknown กล่าวว่า...

55+

Unknown กล่าวว่า...

อยากเห็น

kailasbacigalupi กล่าวว่า...

TOTO: Tioga - Titanium Arts
Tioga. Tioga. titanium white acrylic paint Tioga. TOTO. Tioga. Toto. Tioga. Tioga. titanium road bike Tioga. Tioga. Toto. Toto. Toto. titanium white octane blueprint Toto. black oxide vs titanium drill bits Tioga. Tioga. Tioga. Toto. Tioga. titanium network surf freely